คำอธิบายผลิตภัณฑ์
เรือกอแระ
กอแระแปลว่าเรือหาปลาของชาวประมงในท้องที่หมู่บ้านชาวทะเลทางภาคใต้ของประเทศไทย มีมากในจังหวัดปัตตานี และนราธิวาสเรือ “กอแระ” มีรูปร่างลักษณะ และส่วนประกอบที่ผิดแปลกจากเรืออื่นคือความสวยงามของเรืออยู่ที่การใช้ลวดลาย และสีสันต่าง ๆ ปัจจุบันนี้เรือกอแระถูกดัดแปลงจากการใช้ใบพัดมาเป็นการใช้เครื่องยนต์ เพื่อความเหมาะสม กับเจริญของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการรักษาสัญลักษณ์ของเรือประมง และศิลปะพื้นเมืองเอาไว้ให้แขกบ้านแขกเมืองที่มาเที่ยวหมู่บ้านชายทะเลชม จึงได้มีการทำเป็นเรือกอแระจำลองขายเป็นที่ระลึก โดยมีรูปร่างและ ลักษณะคล้ายของจริงมากที่สุดวัตถุดิบที่สำคัญในการประดิษฐ์เรือกอแระคือ “ไม้ฆายอแร” ซึ่งเป็น พันธุ์ไม้ชอบขึ้นอยู่ตามริมแม่น้ำ เป็นไม้เนื้อละเอียดอ่อนมีน้ำหนักเบา ง่ายต่อ การนำมาประดิษฐ์
ลักษณะและวิธีการใช้
เรือ กอแระเป็นเรือประมงที่ใช้ในแถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่างมีลักษณะเป็นเรือยาวที่ต่อด้วยไม้กระดานโดยทำให้ส่วนหัวและท้ายสูงขึ้นจากลำเรือให้ดูสวยงามนิยมทาสีแล้วเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาดเป็นลายไทยหรือลายอินโดนีเซียซึ่งนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับลำเรือ เรือกอแระมี ๒ แบบคือ แบบหัวสั้นและแบบหัวยาว ขนาดของเรือแบ่งเป็น ๔ ขนาดโดยยึดความยาวของลำเรือเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง คือ ขนาดใหญ่ยาว ๒๕ ศอก ขนาดกลางยาว ๒๒ ศอก ขนาดเล็กยาว ๒๐ ศอกและขนาดเล็กมากเรียกว่า "ลูกเรือกอแระ" ยาว ๖ ศอกโดยประมาณ และด้านนอกซึ่งค่อนขึ้นไปทางขอบเรือ ทำเป็นขอบนูนออกมาข้างนอกลักษณะเป็นกันชนของเรือยาวตลอดลำเรือเรียกว่า "ปาแปทูวอ" ที่ตอนล่างของปาแปทูวอทำรอยแซะเนื้อไม้ด้วยกบให้เป็นแนวยาวตลอดลำเรือเรียกว่า "กอมา" เรือทั้งลำ แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ลูแว" ส่วนท้ายเรียกว่า "บูเระแต" ถ้าแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ปาลอ" ส่วนกลาง (ลำเรือ) เรียกว่า "ตือเราะ" ส่วนท้ายเรียกว่า "ปูงง"
ประโยชน์
เรือกอแระส่วนใหญ่ใช้ในการประมง โดยนำออกไปทำการประมงในทะเลและนิยมทำเป็นพวก ๆ พวกละ ๕-๖ ลำ นอกจากนี้ยังใช้สำหรับแข่งขันโดยใช้ฝีพายหรือใช้ใบก็ได้ทุกครั้งที่จะออก เรือก่อนขึ้นเรือชาวประมงจะให้ความเคารพเรือกอแระของตนโดยการถอดรองเท้าทุก
ครั้ง และเมื่อเรือจอดอยู่บนฝั่งก็ห้ามผ่านใกล้ ๆ หรือเล่นบริเวณหัวเรือ ไม่พูดจาเชิงอวดดี หรือพูดในสิ่งที่ไม่เป็นมงคล เพราะเชื่อว่ามีพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ความคุ้มครองเรือสิงสถิตอยู่ที่หัวเรือบริเวณ "จาปิ้ง" นับได้ว่าเรือกอแระเป็นเรือในจังหวัดภาคใต้ตอนล่างซึ่งใช้ในการประมงทางทะเลของชาวประมงมุสลิมในจังหวัดภาคใต้นับว่าเป็นเรือที่แปลกตาและหาดูได้ยากในจังหวัดอื่นๆจึงถือเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของชาวใต้อย่างหนึ่งด้วย
ประวัติความเป็นมาการแข่งเรือกอแระ เรือยาว ชิงถ้วยพระราชทานหน้าพระที่นั่งฯ จ.นราธิวาส
จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดใต้สุดแดนสยามที่ตั้งอยู่ติดอ่าวไทยมีแม่น้ำ สำคัญ 3 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสุไหงโก-ลกและแม่น้ำสายบุรี ประชาชนจึงมีความผูกพันอันแน่นแฟ้นกับทะเลและแม่น้ำมาตั้งแต่อดีตเรือประมง จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการประกอบอาชีพแต่เรือประมงที่นราธิวาสมีความ แตกต่างกับเรือประมงพี่น้องประชาชนในภาคใต้ตอนบนหรือภาคอื่นๆเพราะเรือประมง ของพี่น้องชาวจังหวัดนราธิวาส เรียกกันว่า “เรือกอแระ”มีลักษณะสวยงาม เมื่อถึงเทศกาลวันฮารีรายอ หรือวันละศีลอดพี่น้องชาวไทยมุสลิมก็จะงดออกหาปลา แต่จะร่วมพิธีการศาสนาและมีการละเล่นมีมหรสพสนุกสนานครื้นเครงตลอดจนการจัดให้มีการแข่งเรือกอแระในหมู่พี่น้องชาวประมงบริเวณอ่าวซึ่งอยู่ติดกับหาดนราทัศน์และมัสยิดกลางในปัจจุบันจึงสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้เข้าแข่งขันและผู้ชมเป็นอย่างมากแต่เมื่อกาล เวลาผ่านไป ประกอบกับสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนไปประเพณีการแข่งขันเรือกอแระ ดังกล่าวก็เสื่อมหายไประยะหนึ่งต่อมาในปี พ.ศ 2516 หลังจากการก่อสร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์เสร็จเรียบร้อยแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศืก็ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรมณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์เป็นประจำทุกปี (ปี พ.ศ 2525จนถึงปัจจุบัน ) ในการเสด็จมาแต่ละครั้งจะทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวันราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงทุกหมู่เหล่าแม้จะเป็นถิ่นทุรกันดารเพียงใดพระองค์ก็เสด็จไปถึงอย่างไม่ย่อท้อและไม่หวั่นเกรงภยันตรายเพื่อรับทราบปัญหาของพสกนิกรพระองค์ทรงวางโครงการน้อยใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นยังความสงบสุขร่มเย็นโดยถ้วนหน้ากัน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯดังกล่าวชาวนราธิวาสได้ตระหนักและระลึกถึงอยู่ตลอดเวลา ในปี พ.ศ 2518 ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรจะจักให้มีการแข่งขันเรือกอแระ ด้วยฝีพายและได้พระราชทานถ้วยรางวัลแกทีมเรือที่ชนะการแข่งขันด้วยนับตั้แต่นั้นมาจังหวัดนราธิวาสได้จัดแข่งขันเรือกอแระและชิงถ้วยพระราชทานเป็นประจำ ทุกปี
ใน พ.ศ 2522 จังหวัดนราธิวาสโดยนายชัดรัตนราชผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้นก็ได้ ริเริ่มให้มีการแข่งขันเรือยาวขึ้นอีกประเภทหนึ่งแต่โดยเหตุที่จังหวัด นราธิวาสเรือยาวค่อนข้างหาได้ยากจึงได้เชิญเรือยาวจากจังหวัดชุมพรสุราษฏร์ ธานี และนครศรีธรรมราช เข้าร่วมแข่งขัน ส่วนอำเภอต่างๆ ของจังหวัดซึ่งมีฝีพายพร้อมแต่ไม่มีเรือยาวก็ได้หยิบยืมเรือจากจังหวัดดัง กล่าวส่งเข้าแข่งขันกันอย่างสนุกสนานจนกลายเป็นประเพณีการแข่งขันเรือกอแระและเรือยาวควบคู่กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 จนเป็นประเพณีสืบเนื่องกันมา และในปี พ.ศ.2529 ได้เพิ่มการแข่งขันเรือยอกองอีก 1 ประเภทซึ่งเป็นเรือหาปลาขนาดเล็กของชาวประมงชายฝั่งแต่เป็นการแข่งขันชิงถ้วยรางวัลจากผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งนี้เพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ทุกๆ การซื้อของของคุณคือการส่งกำลังใจไปให้พี่น้องชาวใต้ ด้วยบาทและสตางค์ที่ได้จะไปถึงมือผู้ผลิต เพื่อให้รอยยิ้ม ให้พลังใจในการผลิตสินค้าดีๆ ต่อไป